EXIM BANK เสนอยกเครื่องประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง”สร้าง “คน” และ “ทีม” ประเทศไทยบุกตลาดโลก

EXIM BANK เสนอยกเครื่องประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง”สร้าง “คน” และ “ทีม” ประเทศไทยบุกตลาดโลก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงนโยบายในโอกาสครบรอบ 28 ปีของธนาคาร ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ประเทศไทยในวันนี้ไม่เหมือนอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยเป็นว่าที่ “เสือตัวที่ 5” ของเอเชียต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ปัจจุบันไทยยังติดกับดักเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกำลังจะไต่ขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Country) ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทิ้งห่างประเทศไทยหลายช่วงตัวซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่า 10 ปี และเวียดนามที่แซงหน้าประเทศไทยในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะการส่งออกและเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นผลจากข้อจำกัดของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1. ขนาดตลาดและกำลังซื้อ ไทยมีจำนวนประชากรเพียงไม่ถึง 70 ล้านคน และกำลังซื้อไม่สูง เพราะเศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำมาเป็นเวลานาน อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ไทยมีสัดส่วนของประชากรอายุเกิน 60 ปีสูงถึงเกือบ 20%

2. การขาดอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Industries) ที่ผ่านมาการผลิตเน้นเชิงปริมาณมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แทนการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแบรนด์ของตนเอง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเท่าที่ควร

3. การขาดนักรบเศรษฐกิจไปบุกตลาดต่างประเทศ ท่ามกลางตลาดในประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆทั้งที่ตลาดโลกเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะตลาดใหม่ (New Frontiers) หรือแม้แต่ตลาดหลักเดิมที่ยังมีช่องว่างอีกมากในการเข้าไปเติมเต็ม

4. ระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และกฎระเบียบหลายประการยังเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยจึงขอเสนอกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย (Thailand Game Changer)” ดังนี้

1. เกมสร้างนักรบเศรษฐกิจ ในการปลดล็อกข้อจำกัดด้านขนาดตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างผู้ส่งออก SMEs ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 23,000 รายหรือไม่ถึง 1% ของSMEs รวม เทียบกับเวียดนามที่มีสัดส่วนถึง 10%

2. เกมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) เพื่อรองรับกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) สอดรับกระแสการดูแลสุขภาพ

3. เกมสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อธุรกิจการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพาณิชยนาวี Logistics และอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในปี 2565 EXIM BANK จึงมีนโยบายมุ่งเน้นบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Bank)” ด้วยภารกิจ ดังนี้

• “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เริ่มไปต่อไม่ได้โดยสนับสนุนให้เกิดการ Transform ธุรกิจและพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal

• “สร้าง” อุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green Economy : BCG Economy) และสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ที่พร้อมบุกตลาดโลก โดยมุ่งเน้นบ่มเพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก (Indirect Exporters) ให้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก เริ่มต้นจากการค้าออนไลน์บน EXIM Thailand Pavilion ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม Alibaba

• “เสริม” การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ CLMV (กัมพูชาสปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)

• “สานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างคุณค่าและผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในการเดินหน้าภารกิจข้างต้น พื้นฐานสำคัญคือ คน (People)ซึ่ง EXIM BANK จะเร่งพัฒนาองค์กรให้เป็น Empathic Workplace ที่ดึงดูดให้บุคลากรภายในองค์กรพร้อมส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ลูกค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และผู้คนในสังคมที่ยังเปราะบาง ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพ และยืดหยุ่น พร้อมรับมือและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและส่งมอบสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค อันจะนำไปสู่ผลกำไร (Profit) ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวม บนรากฐานของการพัฒนากระบวนการ (Process) และช่องทาง (Platform) ใหม่ ๆ ที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในรูปของบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างยั่งยืน

ด้านผลการดำเนินงานปี 2564 แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ EXIM BANK สามารถพลิกผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ด้วยการขยายบทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงิน (สินเชื่อและประกัน) และไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 17,545 ล้านบาทหรือ 12.97% ซึ่งเป็นผลงานด้านสินเชื่อที่สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 40,259 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,514 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 13.50% จากปีก่อน สะท้อนบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 196,726 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 70,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.99%

 สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ณ สิ้นปี2564 EXIM BANK มีวงเงินสะสมสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 102,152 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 66,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,870 ล้านบาทหรือ 17.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้EXIM BANK ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศNew Frontiers รวมถึง CLMV โดยปี 2564 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,312 ล้านบาทหรือ 25.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาด New Frontiers รวมถึง CLMV ซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

ด้านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ปี2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 153,466 ล้านบาทสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 18,394 ล้านบาท หรือ 13.62% เมื่อเทียบกับปีก่อน

 นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยขยายระยะเวลาการชำระเงิน พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้ ปี 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ73,800 ล้านบาท

EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่2.73% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปี 2563 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,166 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 11,670 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 280.11%

นอกจากนี้ ในปี 2564 EXIM BANK ยังได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยได้รับเงินแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี2565 เปรียบเสมือนการเติมน้ำมันให้ EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง

“โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Next Normal ที่ผู้คนเริ่มปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากโควิด-19 พร้อมกับโอกาสที่กำลังเข้ามาตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสร้างผู้ส่งออกใหม่จากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากจะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีจำนวนรายและมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นการขยายฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ขณะเดียวกันยังช่วยนำพาผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังการพัฒนาผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างผลผลิตเป็นนักรบเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกให้กลับมาเติบโตได้ทวีคูณและยั่งยืน” ดร.รักษ์กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง